ซิลิคอนวัลเลย์ได้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ย่านถนนไฮเวย์ 101 ถูกประดับประดาด้วยตราบริษัทสตาร์ทอัพที่ดูเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง ค่าเช่าแพงขึ้นอย่างพุ่งพรวด เช่นเดียวกับความต้องการบ้านพักตากอากาศสวยหรูชานเมืองอย่างแถบเลคทาโฮ อันเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความมั่งคั่งของประชากร บริเวณเบย์แอเรียเป็นถิ่นกำเนิดของอุตสาหกรรมผลิตสารกึ่งตัวนำ รวมถึงบริษัทคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เหล่าคนหัวกะทิที่นี่ได้สร้างสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ไว้มากมายจนทำให้โลกดูล้ำหน้าไปไกล ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือหน้าจอสัมผัส เครื่องมือที่ค้นหาตำแหน่งห้องสมุดดีๆ ได้ในเสี้ยววินาที ไปจนถึงการบังคับโดรนได้ไกลถึงพันๆ ไมล์ การกลับมาคึกคักอีกครั้งของธุรกิจต่างๆ หลังจากปี 2010 แสดงให้เห็นถึงการขับเคลื่อนไปข้างหน้าที่กำลังเกิดขึ้น
อาจฟังดูประหลาดที่คนบางส่วนในซิลิคอนวัลเลย์กลับมีความรู้สึกว่าสถานที่แห่งนี้ซบเซา และไม่ได้มีนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ มากมายมาเป็นทศวรรษแล้ว ปีเตอร์ ธีล ผู้ก่อตั้ง PayPal และผู้ร่วมลงทุนรายแรกของ Facebook พูดถึงนวัตกรรมในประเทศอเมริกาว่าอยู่ใน ”ช่วงวิกฤตขั้นสุด” วิศวกรในทุกแขนงต่างสัมผัสได้ถึงความสิ้นหวังนี้เหมือนๆ กัน และยังมีนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มเล็กๆ ที่กำลังขยายตัวกลุ่มหนึ่งกล่าวเอาไว้เช่นกันว่า นวัตกรรมทุกวันนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากมายเทียบเท่าสมัยก่อนอีกแล้ว
[ ... ]
ปัจจุบันนวัตกรรมในอุตสาหกรรมทั้งหลายเริ่มถูกขับเคลื่อนด้วยกระบวนการผลิตที่ถูกลง คอมพิวเตอร์เริ่มเข้าใจภาษาธรรมชาติมากขึ้น เราสามารถควบคุมวิดีโอเกมได้โดยใช้เพียงการขยับร่างกาย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะถูกนำไปประยุกต์ใช้กับโลกธุรกิจหลายๆ ด้านในไม่ช้า เทคโนโลยีภาพพิมพ์สามมิติก็สามารถผลิตวัตถุที่มีความซับซ้อนได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนอาจนำไปสู่การผลิตเนื้อเยื่อมนุษย์และชิ้นส่วนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้ในอนาคต
กลุ่มคนที่ต่อต้านนวัตกรรมอาจมองว่าสิ่งนี้คือ “สัญญาที่ไม่เคยเป็นจริง” แต่ความคิดที่ว่าความเจริญก้าวหน้าจากเทคโนโลยีนั้นต้องอยู่ไม่ก็ไปมากกว่าไปๆ มาๆ นั้นขัดแย้งกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริง แชด ซิฟเวอร์สัน แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก้ได้กล่าวเอาไว้ว่า ในยุคที่เริ่มมีการเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้า การพัฒนาความสามารถในการผลิตเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเป็นไปอย่างช้าๆ ในช่วงปลายทศวรรษที่ 19 ขณะที่มีการริเริ่มนวัตกรรมทางไฟฟ้าสำคัญๆ หลังจากนั้นจึงพัฒนาอย่างก้าวกระโดด